Isuzu King of Trucks
  • เรื่องน่ารู้จากอีซูซุ
  • 3 เคล็ดลับในการดูแลรถบรรทุกอีซูซุ FRR-S เครื่องยนต์ยูโร 5 (EURO5) ที่ทำตามกันได้ง่ายๆ

  • 1 สิงหาคม 2567

    3 เคล็ดลับในการดูแลรถบรรทุกอีซูซุ FRR-S เครื่องยนต์ยูโร 5 (EURO5) ที่ทำตามกันได้ง่ายๆ

    3 เคล็ดลับในการดูแลรถบรรทุกอีซูซุ FRR-S เครื่องยนต์ยูโร 5 (EURO5) ที่ทำตามกันได้ง่ายๆ

    เคล็ดลับที่ 1 การใช้ไส้กรองน้ำมันเครื่อง

    ไส้กรองคอยกรองสิ่งสกปรกทั้งคราบเขม่า ช่วยทำให้น้ำมันเครื่องที่ใช้มีความสะอาด การไหลเวียนของระบบหล่อลื่นเหมาะสม เพื่อปกป้องเครื่องยนต์ตั้งแต่เริ่มสตาร์ท ควรเลือกใช้ไส้กรองน้ำมันเครื่องแท้ที่ได้มาตรฐานจากอีซูซุเท่านั้น

    แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าไส้กรองน้ำมันเครื่องที่ใช้แท้หรือไม่?

    ไม่ต้องกังวลอะไร และวางใจได้ เพราะที่ศูนย์บริการอีซูซุ จะเลือกใช้ไส้กรองที่ถูกต้องและเหมาะสมให้รถบรรทุกของคุณ 100%

    การเลือกไส้กรองน้ำมันเครื่องสำหรับรถEuro5

    เคล็ดลับที่ 2 น้ำมันเครื่องก็สำคัญ อย่ามองข้าม

    ต้องใช้น้ำมันเครื่องประเภท “เถ้าต่ำ (Low Ash)” ตามที่ได้ระบุอยู่ในคู่มือการใช้รถ (สำหรับรถ FRR-S ที่มี DPD)

    แล้วทำไมต้องใช้ ประเภท “เถ้าต่ำ (Low Ash)” แตกต่างกับน้ำมันหล่อลื่นทั่วไปอย่างไร?

    • ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานเต็มประสิทธิภาพ
    • เป็นการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง ลดขี้เถ้าสะสมและช่วยชะลอการอุดตันที่กรองอนุภาคดีเซล (DPD) ส่งผลถึงการช่วยยืดอายุการใช้งานโดยตรง
    • หากมองข้าม อาจส่งผลให้เครื่องยนต์หรือ DPD เสียหาย หรือมีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น
    การเลือกน้ำมันเครื่องสำหรับรถEuro5

    เคล็ดลับที่ 3 ไฟเตือนและการรีเจเนอเรชัน (DPD)

    ในระบบไอเสียมีการติดตั้งตัวกรองอนุภาคดีเซล (Diesel Particulate Defuser: DPD) ทำหน้าที่ช่วยดักฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) จากไอเสียก่อนปล่อยสู่บรรยากาศ เมื่อฝุ่นละอองถึงระดับที่กำหนดหรือมีการใช้งานเครื่องยนต์เป็นระยะเวลาหนึ่ง ระบบจะเผาไหม้ฝุ่นละอองที่สะสมใน DPD กระบวนการนี้เรียกว่าการคืนสภาพตัวกรองฯ หรือรีเจเนอเรชัน โดยมี 3 วิธีอย่างง่าย

    1. แบบอัตโนมัติ

    เมื่อปริมาณ PM ที่สะสมใน DPD ถึงระดับที่กำหนด ระบบจะดำเนินการเผาไหม้ PM โดยอัตโนมัติ พร้อมทั้งไฟเตือนการรีเจเนอเรชัน DPD แบบอัตโนมัติ (สีเขียว) จะติดขึ้น

    ไฟเตือนการรีเจเนอเรชัน DPD การดำเนินการของผู้ขับขี่
    ติดค้าง

    ระบบกำลังดำเนินการรีเจเนอเรชันแบบอัตโนมัติอยู่ สามารถใช้งานรถได้ตามปกติ

    2. แบบแมนนวล (รีเจเนเรชันโดยผู้ขับขี่)

    โดยปกติแล้วการรีเจเนอเรชันจะดำเนินการโดยอัตโนมัติ แต่หากการรีเจเนอเรชันแบบอัตโนมัติดำเนินการไม่สมบูรณ์ ไฟเตือนการรีเจเนอเรชันแบบแมนนวล (สีเหลืองอำพัน) จะติดกะพริบเพื่อแจ้งให้ผู้ขับขี่ทราบว่าต้องดำเนินการรีเจเนอเรชันด้วยตัวเอง

    ไฟเตือนการรีเจเนอเรชัน DPD การดำเนินการของผู้ขับขี่
    กะพริบช้า (1 ครั้ง/วินาที)

    ให้เริ่มการรีเจเนอเรชั่นแบบแมนนวลตามขั้นตอนด้านล่าง (เมื่อผู้ขับขี่สะดวก)

    กะพริบเร็ว (3 ครั้ง/วินาที)

    ให้เริ่มการรีเจเนอเรชั่นแบบแมนนวลตามขั้นตอนด้านล่าง (โดยเร็ว)

    ติดค้าง

    หลังจากดำเนินการรีเจเนอเรชันแบบแมนนวลตามขั้นตอนด้านล่างแล้ว ไฟเตือนนี้จะติดค้าง เพื่อแสดงว่าระบบกำลังดำเนินการรีเจเนอเรชั่นแบบแมนนวลอยู่ โดยจะใช้เวลาประมาณ 15 ถึง 20 นาที

    ขั้นตอนการรีเจเนอเรชันแบบแมนนวล

    1. จอดรถในที่ปลอดภัย ไม่มีวัตถุที่ติดไฟได้บริเวณโดยรอบตัวรถและใต้ท้องรถ เช่น หญ้า เศษกระดาษ เป็นต้น
    2. เลื่อนคันเกียร์ให้อยู่ที่ตำแหน่ง “N” (เกียร์ว่าง) และดึงเบรกมือให้สุด
    3. ปล่อยให้เครื่องยนต์หมุนที่รอบเดินเบา กรณีมีการใช้งานปุ่มควบคุมรอบเดินเบา ขอให้หมุนปุ่มควบคุมรอบเดินเบากลับให้สุดโดยการหมุนทวนเข็มนาฬิกาเพื่อลดความเร็วรอบเครื่องยนต์สู่รอบเดินเบา
    4. ในรุ่นที่มี พี.ที.โอ (PTO) ให้หยุดการใช้งาน พี.ที.โอ ปิดสวิตช์ พี.ที.โอ และอุปกรณ์ควบคุมการเร่งรอบเครื่องยนต์ภายนอกตัวรถ
    5. กดสวิทช์ DPD 1 ครั้ง
    6. หลังจากกดสวิตช์ DPD แล้ว ระบบจะเริ่มต้นการรีเจเนอเรชัน โดยไฟเตือนการรีเจเนอเรชัน DPD แบบแมนนวล (สีเหลืองอำพัน) จะเปลี่ยนจากการกะพริบเป็นติดค้าง และรอบเครื่องยนต์จะเพิ่มขึ้นอัตโนมัติ
    7. ท่านไม่ควรทิ้งรถไว้ในระหว่างการรีเจเนอเรชันแบบแมนนวล เนื่องจากจะเกิดความร้อนสูงบริเวณท่อไอเสียใต้ท้องรถ ซึ่งมีโอกาสที่วัตถุที่ติดไฟได้อาจจะปลิวมาติดและเกิดอัคคีภัยได้
    8. เมื่อการรีเจเนอเรชันเสร็จสมบูรณ์ ไฟเตือนการรีเจเนอเรชัน DPD แบบแมนนวล (สีเหลืองอำพัน) จะดับลง จึงสามารถใช้รถได้ตามปกติ

    หมายเหตุ : หากท่านต้องการระงับการรีเจเนอเรชั่นด้วยเหตุผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้กดสวิตช์ DPD อีก 1 ครั้ง ไฟเตือนการรีเจเนอเรชัน DPD แบบแมนนวล (สีเหลืองอำพัน) จะเริ่มกะพริบ แสดงว่าการรีเจเนอเรชันหยุดทำงาน ภายหลังการระงับการรีเจเนอเรชัน หากท่านต้องการรีเจเนอเรชันใหม่อีกครั้ง จะต้องเริ่มทำการรีเจเนอเรชันแบบแมนนวลตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 กรณีที่ทำการรีเจเนอเนชันไม่สมบูรณ์อาจส่งผลกระทบต่อการใช้งาน ดังนั้นจึงขอให้ดำเนินการรีเจเนอเรชันโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

    3. แบบเลือกดำเนินการได้

    ผู้ขับขี่สามารถเริ่มการรีเจเนอเรชันได้ในเวลาที่สะดวก แม้ว่าไฟเตือนการรีเจเนอเรชัน DPD จะยังไม่ติดกะพริบ โดยขอให้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากคู่มือการใช้รถ

    คำเตือน:
    • ระหว่างการรีเจเนอเรชันจะเกิดความร้อนสูงบริเวณท่อไอเสียใต้ท้องรถ หากสัมผัสบริเวณดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้
    • เพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีวัตถุที่ติดไฟได้อยู่ใกล้หม้อพักไอเสีย ชุด DPD และท่อไอเสีย
    • ควรทำการรีเจเนอเรชันในพื้นที่อากาศถ่ายเทได้ดี ควันไอเสียเป็นอันตรายและส่งผลต่อสุขภาพ
    • อย่าทิ้งรถไว้ระหว่างการรีเจเนอเรชันแบบแมนนวล เนื่องจากจะเกิดความร้อนสูงบริเวณท่อไอเสียใต้ท้องรถ ซึ่งมีโอกาสที่วัตถุที่ติดไฟได้อาจจะปลิวมาติดและเกิดไฟลุกไหม้ได้
    คำแนะนำ:
    • การขับรถต่อเนื่องโดยปฏิเสธการทำรีเจเนอเรชันเมื่อไฟเตือนการรีเจเนอเรชันแบบแมนนวลติดกะพริบ อาจส่งผลให้ไฟเตือนตรวจสอบเครื่องยนต์ หรือ ไฟเตือนเข้ารับบริการ (SVS) ติดขึ้น และ DPD เกิดความเสียหายได้ กรณีดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซม DPD ที่ศูนย์บริการมาตรฐานอีซูซุเท่านั้น
    • ห้ามกดสวิตช์ DPD ขณะไฟเตือนการรีเจเนอเรชัน DPD แบบอัตโนมัติ (สีเขียว) ติดอยู่เพราะจะทำให้การรีเจเนอเรชันแบบอัตโนมัติหยุดชะงักการทำงานได้
    • ในรุ่นที่มีการติดตั้ง พี.ที.โอ. เมื่อใช้งาน พี.ที.โอ. เป็นเวลานาน หากมีไฟเตือนการรีเจเนอเรชันติดขึ้น ขอให้หยุดการใช้งาน พี.ที.โอ. และทำการรีเจเนอเรชันให้เสร็จเรียบร้อย จากนั้นจึงกลับมาใช้งาน พี.ที.โอ. อีกครั้ง

    บทความที่เกี่ยวข้อง

    2 สัญญาณถึงเวลาต้องตรวจเช็กเพลา

    3 กุมภาพันธ์ 2566

    2 สัญญาณถึงเวลาต้องตรวจเช็กเพลา

    เพลากลาง หรือเพลาขับ คือตัวช่วยสำคัญในการขับเคลื่อนของรถ แต่หากใช้งานไม่ถูกวิธีอาจจะทำให้รถมีความเสียหายได้

    วันนี้อีซูซุมีวิธีดูแลรักษา ยืดอายุการใช้งานเพลาของรถเรามาให้

    - เปลี่ยนจาระบีใหม่ทุก 2 ปี หรือ ประมาณ 40,000 กิโลเมตร

    - เช็กลูกปืนเพลาขับ หากยางหุ้มเพลาฉีกขาด

    - ไม่ขับขี่ออกตัวกระชากรถรุนแรง

    จอดพักรถอย่างไรให้ปลอดภัย?

    1 สิงหาคม 2565

    จอดพักรถอย่างไรให้ปลอดภัย?

    ในการขับรถบรรทุกส่วนใหญ่นั้น การจอดรถเพื่อหยุดพัก ถือเป็นกิจกรรมที่ทุกคนต้องเคยทำอยู่เสมอเพื่อการขับรถที่ปลอดภัย